กรมควบคุมโรค ได้ออกประกาศเตือนเรื่อง การป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่อาจเกิดในช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย พ.ศ. 2565 โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
1.โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ (โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดอักเสบ)
2.โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ (โรคอุจจาระร่วง)
3.โรคติดต่อที่สำคัญอื่นๆ ในช่วงฤดูหนาว (โรคหัด)
4.ภัยสุขภาพ (การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว)
กลุ่มที่ 1 โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ
โรคไข้หวัดใหญ่ โควิด-19
สามารถติดต่อจากการไอ จามรดกัน หรือสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อ หากได้รับเชื้อแล้วจะมีอาการไข้ ไอแห้ง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เยี่อบุโพรงจมูกอักเสบและเจ็บคอ
โรคปอดอักเสบ
เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อราบางชนิดที่ถุงลมปอดจากการหายใจหรือสัมผัสละอองฝอยจากน้ำมูก น้ำลายที่ปนเปื้อนเชื้อ จะมีอาการไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย อาการดังกล่าวมักเป็นเฉียบพลัน และพบได้ในทุกกลุ่มอายุ แต่จะมีอาการรุนแรงในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องและมีโรคประจำตัว
กลุ่มที่ 2 โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ
โรคอุจจาระร่วง
เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ไม่สะอาด มีการปนเปื้อนเชื้อโรค จะมีอาการถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งขึ้นไปใน 1 วัน อาจมีไข้หรืออาเจียนร่วมด้วย ป้องกันได้โดยการดูแลสุขอนามัย ดื่มน้ำสะอาดและรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและสะอาด
กลุ่มที่ 3 โรคติดต่อที่สำคัญอื่นๆ ในช่วงฤดูหนาว
โรคหัด
เกิดจากการหายใจเอาละอองอากาศที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสจากการไอ จามของผู้ป่วย หรือพูดคุยกันในระยะใกล้ อาการจะมีไข้ ไอ ตาแดงและแฉะ และมีผื่นขึ้นหลังมีอาการ 3-4 วัน ปัจจุบันไม่มียารักษาจำเพาะ แต่มีวัคซีนที่สามารถป้องกันได้ โดยต้องฉีดเข็มแรก ตอนอายุ 9-12 เดือน เข็มสอง ตอนอายุ 1 ปีครึ่ง
กลุ่มที่ 4 ภัยสุขภาพ
การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว
ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน เนื่องจากไม่มีเครื่องนุ่งห่มหรือผ้าห่มกันหนาวที่เพียงพอ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : กรุงเทพธุรกิจ
https://www.bangkokbiznews.com/health/public-health/1037251
|